วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อาชีพของผู้ที่เรียนจบวิศวะ

วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำงานได้อย่างหลากหลายในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่
อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนและวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำการออกแบบและผลิตแผ่นวงจรรวม อุปกรณ์หน่วยความจำและฮาร์ดดิสก์ ได้แก่ บริษัท FASL(Thailand) หรือเดิมคือ Advanced Micro Devices (AMD), Philips Semiconductor, Lucent, Seagate, Sony Semiconductor, Toshiba Semiconductor

การสื่อสารและโทรคมนาคม ต้องการวิศวกรติดตั้งและดูแลระบบการสื่อสาร ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท การสื่อสารโทรคมนาคม จำกัด บริษัท AIS บริษัท DTAC บริษัท TelecomAsia บริษัท TT&T บริษัท Ericsson Nokia AT&T และ SIEMENS

วิศวกรการออกแบบและผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท SONY HITACHI Panasonic Mitsubishi ตลอดจนบริษัทขนาดใหญ่ของคนไทยและอุตสาหกรรม SME ที่มีอยู่อย่างมากมาย

วิศวกรควบคุมและซ่อมบำรุงระบบในอุตสาหกรรมหนัก ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยานยนต์

วิศวกรคอมพิวเตอร์เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในตลาดแรงงานเพราะทุกธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องระบบคอมพิวเตอร์เพื่อดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ วิศวกรสามารถเลือกงานได้สามลักษณะคือ
วิศวกรวางระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีโครงข่ายให้แก่ภาคธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้มีการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งงานคือบริษัทฯ ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรใหญ่และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท AT&T บริษัท ไอบีเอ็ม บริษัท SUN Microsystem บริษัท LUCENT Technology บริษัท CISCO เป็นต้น วิศวกรที่ทำงานในบริษัทข้ามชาติเหล่านี้มีรายได้เงินเดือนสูงมาก
วิศวกรดูแลระบบคอมพิวเตอร์และการสื่อสารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศหรือวิศวกรพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศตามบริษัทต่างๆ ระบบโครงข่ายของธนาคารและห้างสรรพสินค้น
วิศวกรพัฒนาโปรแกรมและระบบคอมพิวเตอร์อิสระ รับทำงานทั่วไปให้แก่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เป็นวิศวกรที่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นเจ้าของกิจการเองได้

วิศวกรไฟฟ้ากำลัง สามารถออกไปประกอบอาชีพด้านต่างๆ ได้แก่
วิศวกรประจำโรงงานทำหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้า ติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องจักรไฟฟ้าภายในโรงงานอุตสาหกรรม
วิศวกร ออกแบบ อนุมัติแบบ ควบคุมงานการติดตั้งระบบไฟฟ้า สำหรับอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งต้องทำงานร่วมกันกับทีมงานวิศวกรสาขาอื่นๆ เพื่อให้การก่อสร้างอาคารและโรงงาน สำเร็จลุล่วง
วิศวกรควบคุมการจ่ายกำลังไฟฟ้าในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง โรงแยกก๊าซ ปตท การรถไฟฟ้ามหานคร
วิศวกรปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและวิจัยผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า
วิศวกรวางแผนการใช้พลังงานประจำโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ทุกโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีแผนการประหยัดพลังงาน

วิศวกรโทรคมนาคม
วิศวกรรมโทรคมนาคม เป็นวิศวกรรมศาสตร์ ที่เกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้ ทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมไฟฟ้าทั้งปวงมา รวบรวมเป็นองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งเฉพาะทางและเป็นวิศวกรรมที่ซับซ้อนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ชั้นสูงหลายๆ ด้าน ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน ในงานวิศวกรรมโทรคมนาคมเป็นการรวบรวม วิศวกรรมแทบทุกสาขามาในงานวิศวกรรมโทรคมนาคม แม้แต่งานด้านวิศวกรรมโยธา ก็ยังเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมโทรคมนาคม เช่น การวางฐานราก เสาตั้งสายอากาศ เป็นต้น หรือแม้แต่ทางการแพทย์ ก็มีการใช้วิศวกรรมโทรคมนาคมชั้นสูงมาประยุกต์ใช้ เช่น ความถี่วิทยุ และใยแก้วนำแสง มาประยุกต์ใช้ในการตรวจและรักษาผู้ป่วย เป็นต้น

อันที่จริงวิศวกรรมโทรคมนาคม ในปัจจุบันจะเป็นตัวกลางในการหลอมรวมทางวิศวกรรมในทุกสาขาเข้าด้วยกัน (Engineering Convergence)ดังหน้าที่ของ งานโทรคมนาคม อยู่แล้ว วิศวกรโทรคมนาคม ส่วนใหญ่มักจำเป็นต้องเชี่ยวชาญงานหลายๆ ด้านให้มากที่สุดทั้ง งานอิเล็กทรอนิกส์ งานไฟฟ้ากำลัง งานคอมพิวเตอร์ งานอิเล็คทรอนิกส์เชิงกล งานสายอากาศและคุณสมบัติคลื่น งานโยธาเล็กน้อย รวมทั้งงานจัดการโครงการ เป็นต้น

วิศวกรรมโทรคมนาคม ทำให้เกิดมีทรัพยากร คลื่นวิทยุ (Radio Wave)กลายเป็นทรัพยากรของมนุษย์โลกที่มีค่าประเมินไม่ได้เกิดขึ้นจากงานวิศวกรรมโทรคมนาคม และเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์อย่างกว้างขวาง กลายเป็นคลื่นลูกที่สามของการเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์โลก (Third Wave Concept) และการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจของประเทศใดๆ ล้วนขึ้นอยู่กับ เครือข่าย (Network)

ปัจจุบันงานวิศวกรรมโทรคมนาคม ค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีรวดเร็ว และมีวงจรชีวิตของสินค้า หรืออุปกรณ์โทรคมนาคม สั้นลง (Shortly Technology Life Cycle)และมีความซับซ้อนสูงขึ้น พร้อมๆ ไปกับการมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปด้วยดังที่เราเห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน

วิศวกรโทคคมนาคมเป็นที่ต้องการมากในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบสื่อสารและระบบโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งในภาครัฐและเอกชน ได้แก่
วิศวกรติดตั้งและดูแลระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ได้แก่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท การสื่อสารโทรคมนาคม จำกัด บริษัท ไทยคม บริษัท AIS บริษัท DTAC บริษัท TelecomAsia บริษัท TT&T บริษัท Ericsson บริษัท Nokia บริษัท AT&T และบริษัท SIEMENS
วิศวกรติดตั้งและดูแลระบบสื่อสารเคเบิลไยแก้ว ระบบไมโครเวฟ ระบบสื่อสารดาวเทียม
วิศวกร ออกแบบ ติดตั้งและดูแลระบบสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่มีสถานีทวนสัญญาณอยู่ทั่วประเทศ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่องต่างๆ
วิศวกรดูแลระบบระบบสื่อสารสำหรับการบินพาณิชย์ เช่น บริษัท การบินไทย บริษัท วิทยุการบิน จำกัด

วิศวกรระบบควบคุม
วิศวกรควบคุมกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมทุกแขนง เช่น ปิโตรเคมี ยานยนต์ พลังงาน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
วิศวกรติดตั้งและดูแลระบบควบคุมในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ อุตสาหกรรมเคมีและการแปรรูปเคมีภัณฑ์
วิศวกรออกแบบ ติดตั้งและควบคุมระบบการเดินรถไฟฟ้า เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร

วิศวกรเครื่องกล เป็นที่ต้องการอย่างมากในภาคอุตสาหกรรมหนักต่างๆ เช่น
วิศวกรดูแลระบบในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซและผลิตปิโตรเลียม โรงงานผลิตเหล็กเส้น โรงงานสิ่งทอ
วิศวกรการออกแบบ ติดตั้งและดูแลงานระบบปรับอากาศ และงานระบบท่อในโรงงานและอาคารต่างๆ
วิศวกร ตรวจวัดในอุตสาหกรรมการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนวางแผน ออกแบบและติดตั้งการเดินท่อส่งก๊าซและน้ำมัน เช่น บ.ยูโนแคล บ.เชลล์ บ.ปตท สำรวจ เป็นต้น วิศวกรเหล่านี้จะได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนสูงมากเพราะนอกจากจะต้องใช้ความสามารถสูงแล้ว ยังต้องมีความเข้มแข็งอดทน สามารถทำงานภายใต้ภาวะความกดดันและอันตรายได้
วิศวกรสำหรับโรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนยานยนต์

วิศวกรโยธา
วิศวกรออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างต่างๆ อาทิ อาคารสูง โรงงาน ท่าอากาศยาน ถนน สะพาน อุโมงค์ใต้ดิน เขื่อน ฝายกั้นน้ำ ซึ่งมีแหล่งงานเป็นจำนวนมากตามบริษัทต่างๆ ได้แก่ บ.อิตัลไทย บ.ชิโนไทย เป็นต้น
วิศวกรด้านการบริหารและการควบคุมการก่อสร้าง
วิศวกรด้านสำรวจ การรังวัดและการจัดทำผังเมือง
วิศวกรออกแบบและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียประจำโรงงานและอาคารต่างๆ
วิศวกรสำรวจและบริหารงานด้านแหล่งน้ำและอุทกวิทยา
วิศวกรออกแบบและดูแลระบบไฮเวย์

วิศวกรเคมี
วิศวกรควบคุมกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการแปรรูปสารเคมีต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภค เช่น วิศวกรออกแบบระบบให้แก่โรงงานทางด้านการแปรรูปเคมี

วิศวกรเมคคาทรอนิกส์

เป็นวิศวกรที่มีความรอบรู้ในศาสตร์ที่สำคัญทางวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ระบบควบคุมและเครื่องกล วิศวกรด้านนี้เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมที่ต้องการระบบการผลิตที่ทันสมัย ความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน หรูหราและมีมูลค่าสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรผลิตไอซีและวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์และมอนิเตอร์ อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ใช้เครื่องจักรไฮเทค

วิศวกรอุตสาหการ
จัดเป็นวิศวกรที่จะเป็นต้องเรียนหรือมีความรู้ทางด้านบริหารมากกว่าวิศวกรสาขาอื่นๆ
วิศวกรประจำโรงงานเพื่อบริหารจัดการขบวนการของการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นที่ต้องการในทุกโรงงานอุตสาหกรรม
วิศวกรบริหารการผลิตและเพิ่มผลผลิตในอุสาหกรรมต่างๆ
วิศวกรออกแบบการจัดวางสายการผลิตภายในโรงงาน เครื่องจักร และการบริหารระบบห่วงโซ่อุปทานและคลังสินค้า โรงงานหนึ่งๆ อาจมีการผลิตสินค้าหลายประเภทหรือหลายรุ่น ดังนั้น วิศวกรอุตสาหการต้องวางผังการจัดการสายการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ให้สามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมากๆ ต่อหน่วยเวลา และใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ คุ้มค่าที่สุด
ในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมการผลิตทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เช่นประเทศไทยในปัจจุบัน จะมีความต้องการวิศวกรอุตสาหการเป็นจำนวนมาก